สวัสดีครับในฉบับนี้ผู้เขียนก็ขอคุยถึงเรื่องของเจ้าตุ๊กแกสีสันสวยงามตัวก่อนแล้วกันครับ
แม้ภายในจิตใจจะโปรดปรานการเลี้ยงสัตว์ แต่หากสถานที่ไม่เอื้ออำนวย
ขาดความรู้หรือไม่มีเวลาเพียงพอต่อการดูแลเอาใจใส่เจ้าสัตว์เลี้ยงแสนรักตัวนั้น
ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะนอกจากจะทำให้ลำบากกายไม่สบายตัวทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังอาจเป็นเรื่องเสี่ยงถึงชีวิต...ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ตัวน้อยหรือตัวใหญ่ก็ตาม
ดังนั้น การเลือกสัตว์ที่ชื่นชอบมาเลี้ยงสักตัว
จึงจำเป็นมากที่ต้องคำนึงถึงพฤติกรรมของสัตว์ที่สอดคล้องกับสภาพของผู้ เลี้ยง
อย่างเช่น หากชอบเลี้ยงสุนัขพันธุ์ขนาดใหญ่ ก็ต้องมีพื้นที่มากพอ
หรือหากรู้ตัวว่าชอบอยู่เงียบๆ ก็ต้องเลือกเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ส่งเสียงรบกวนมากนัก
เหมือนกับ คุณรัฐกิจ จันทรสีมา หรือ คุณรัฐ
หนุ่มสถาปนิกผู้ชื่นชอบสัตว์เสียงเบาไม่กวนใจอย่างสัตว์เลี้ยงประเภท
"สัตว์เลื้อยคลาน" (Reptile)
"สัตว์กลุ่มนี้แค่ไม่เห่าก็น่าสนใจแล้ว
มันกลายเป็นสัตว์อีกหนึ่งทางเลือก แล้วแต่ความเหมาะสมและความสนใจของแต่ละคน
สัตว์ทุกชนิดมันมีความเด่นของมันหมด อย่างหมาก็มีอะไรที่น่าสนใจมากมาย
มีตั้งหลายสายพันธุ์ และแต่ละพันธุ์ก็มีพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน
ถ้าเราชอบเพื่อนขี้เล่นก็เลี้ยงโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ถ้าไม่ชอบให้สนามเสียหาย
ก็ต้องไม่เลี้ยงพันธุ์ที่มันชอบขุดดิน คนชอบแมวก็มีแมวให้เลือกตั้งมาก แมวไทยก็มี
แมวนอกก็มี แถมยังมีตั้งหลายสี มีสีใหม่ๆ เข้ามาให้เลือกเลี้ยง
อย่างผมไม่สะดวกเลี้ยงหมาก็ต้องหาสัตว์อะไรที่เหมาะกับชีวิตของเรา"
คุณรัฐ เลือกเลี้ยงสัตว์ประเภทงู และกิ้งก่า
แต่ชนิดที่เขาโปรดปราน มีจำนวนมากถึง 80 ตัว ทั้งยังสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้เอง
ก็คือ "ตุ๊กแกเสือดาว" (Leopard
Gecko)
"ตุ๊กแกเสือดาว มันเข้ากับชีวิตคนทำงานดีนะ มันหากินกลางคืน
ตื่นเช้ามาผมก็ออกไปทำงานปกติ มันก็นอนไป พอกลางคืนกลับมาก็ให้อาหาร ทำความสะอาด
มันก็สบายดี แต่ถ้าอย่างกิ้งก่าเบี๊ยดดรากอน หรือกิ้งก่าคามิลเลี่ยน
ต้องพาไปตากแดด ต้องมีเวลาดูน้ำ ดูอุณหภูมิ ต้องมีเวลาเอาใจใส่
แต่ผมไม่มีเวลาอยู่บ้านมากนัก ตุ๊กแกเสือดาวมีพฤติกรรมที่เป็นสัตว์หากินกลางคืน
เหมาะกับช่วงเวลาที่สามารถดูแลของผมได้"
คุณรัฐ อธิบายต่อถึงสัตว์เลี้ยงชนิดนี้ว่า ตามธรรมชาติแล้ว ตุ๊กแกเสือดาว
มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณทะเลทรายของประเทศอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดียตะวันตก
มีเปลือกตาหนา เพื่อป้องกันฝุ่นละอองตามธรรมชาติ เมื่อโตเต็มที่มีขนาดยาวประมาณ 9
นิ้ว ตัวผู้มักมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย แต่บางสายพันธุ์มีขนาดยาวถึง 11 นิ้ว
แต่เท้าทั้งสี่นั้นเป็นเล็บแหลมคล้ายกิ้งก่า เพื่อใช้สำหรับการปีนป่าย
ต่างจากตุ๊กแกชนิดอื่นๆ ที่มีเท้าเป็นผพังผืด
ส่วนหางที่อวบอ้วนของมันยังเป็นตัวช่วยในการเก็บสารอาหารและน้ำดื่มไว้ใช้
ได้อย่างสม่ำเสมอ
เหตุที่ตุ๊กแกเสือดาวเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มผู้
นิยมเลี้ยงสัตว์แปลกในปัจจุบัน เพราะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย
สามารถจับต้องได้และเชื่องกับเจ้าของ แต่ความโดดเด่นสะดุดใจคนเลี้ยงมากที่สุดก็คือ
สีสันและลวดลายคล้ายเสือดาวของมัน ซึ่งจากการพัฒนาสายพันธุ์ของผู้เลี้ยง
สร้างตุ๊กแกเสือดาวหลากหลายชนิดตามลักษณะสีผิว ลวดลาย และสีของดวงตา
โดยสายพันธุ์ที่นิยมในต่างประเทศและเป็นที่รู้จักในเมืองไทย คุณรัฐได้ยกตัวอย่าง
เช่น
RAPTOR มาจาก
R=Ruby eye A=Albino
P=Patternless T=Tremper OR= Orange ลักษณะเด่นของมันคือ ตาแดง ไม่มีจุด
ตัวเป็นสีส้ม หางเป็นสีส้ม
APTOR มาจาก
A=Albino P=Patternless
T=Tremper OR= Orange ลักษณะเด่นคล้ายกับ RAPTOR จะต่างกันก็ที่สีตาไม่แดง
ซึ่ง RAPTOR เกิดจากการพัฒนาของ
APTOR นั่นเอง
Eclipse พวกนี้เกิดจากการพัฒนา
APTOR มีตาสีดำและจุดที่ตัว
จะเป็นหม่นๆ สีเทาๆ
Snow มีลักษณะ
ลำตัวขาว และมีจุดดำ ตอนเล็กๆ จะเห็นได้ชัดเจน โตขึ้นมาอาจจะมีสีเหลืองปน
Bell albinoเเละ
tremper albino นั้น
เป็น albino หรือตุ๊กแกเผือกทั้งคู่
แต่เกิดจากคนที่ค้นพบที่ต่างกัน bell
albino จะมีสีที่เข้มกว่า และนัยน์ตาอมแดงกว่า
นอกจากนี้ ยังมี rainwater
albino ซึ่งออกสีขาวมากกว่า
Tangerine เป็นตุ๊กแกลำตัวสีส้ม
แต่หากไม่มีจุดที่ลำตัวเเละหัว หรือมีเพียงจุดที่หางเท่านั้น เรียก super hypo tangrerine
Blizzard เป็นตุ๊กแกตัวสีขาวเทาและตาดำ
แต่ใน blazing blizzard นั้น
จะมีสีขาว เเละตาอมแดง
Pattemless พวกนี้จะไม่มีลายและจุด
และลำตัวออกสีเหลือง
Normal เป็นตุ๊กแกสีพื้นฐาน
หรือพวกที่มีในธรรมชาติ มีจุดมากทั่วตัว และมีสีหลืองที่ลำตัว
High yellow พวกนี้จุดจะน้อยกว่าตุ๊กแก
normal แต่จะมีสีสดเด่นชัดมากกว่าทั้งสีเหลืองและลายดำ
"พวกนี้เป็นตุ๊กแกเสือดาวทั้งหมด แต่คำเหล่านี้เป็นชื่อเรียกของสี
หรือในต่างประเทศเรียกว่า morph
อย่างตอนนี้ก็มีสีใหม่ของโลก เรียกว่า Enigma หายากและมีราคาแพง
สีสันของมันก็เป็นคำตอบได้ว่า ทำไม
ผู้เพาะพันธุ์หรือบรีดเดอร์ต้องเลี้ยงพวกมันจนโต รอเป็นปีกว่าจะผสมพันธุ์มันและมีลูกออกมา
ไม่อย่างนั้นก็ลงทุนซื้อตัวสวยๆ จากเมืองนอกมาเลี้ยงเองเลยก็ได้
แต่มันจะรู้สึกต่างกับลูกตุ๊กแกที่เราเพาะได้เอง บางครั้งก็ได้ลูกสีที่ต่างออกไป
เกิดเป็นสีใหม่ๆ ได้ตลอด คาดเดาไม่ได้
หรือแม้แต่การจับผสมพันธุ์ก็ต้องลุ้นอีกว่ามันจะกัดกันไหม จับคู่กันได้หรือเปล่า
มันเหมือนเป็นเสน่ห์ของการเลี้ยงอีกอย่างหนึ่ง"
คุณรัฐ บอกต่อว่า ตุ๊กแกเหล่านี้ในวัยเด็กจะมีลวดลายเป็นแถบ
แต่แถบเหล่านั้นจะค่อยๆ จางลง จนมีสีและลายที่ชัดเจนเมื่ออายุ 1 ปี
ซึ่งเป็นวัยที่ตุ๊กแกสามารถผสมพันธุ์ได้ ผู้เลี้ยงสามารถสังเกตเพศได้จากบริเวณใต้โคนหางติดกับขาหลัง
หากเป็นตัวผู้จะมีตุ่มเล็กๆ หรือต่อมฟีโรโมนเรียงกันเป็นรูปตัว V และในฝั่งหางจะมีตุ่มปูดอีก
2 ตุ่ม แต่ถ้าไม่มีแสดงว่าเป็นตัวเมีย หากผสมพันธุ์แล้ว ประมาณ 1 เดือน
ตัวเมียจะออกไข่ ครั้งละ 2-5 ฟอง ฟักไข่นาน 45 วัน ลูกตุ๊กแกตัวน้อยๆ
จึงจะโผล่พ้นเปลือกให้เชยชม
สำหรับการเลี้ยงดูเจ้าตุ๊กแกสีสวยนี้ คุณรัฐ อธิบายว่า
สามารถเลี้ยงได้ทั้งในกล่องพลาสติค ตู้ปลา หรือตู้อะครีลิกก็ได้
ส่วนเขาเลือกเลี้ยงในชั้นพลาสติคเพื่อการประหยัดพื้นที่ มีน้ำหนักเบา
ดูเป็นระเบียบและถอดล้างได้สะดวก
โดยจัดให้ตุ๊กแกอยู่เพียงชั้นละตัวเพื่อความปลอดภัย
ภายในกล่องเลี้ยงรองพื้นด้วยทรายละเอียด หรือทรายสำหรับสัตว์เลื้อยคลาน
แต่คุณรัฐบอกว่าที่สะดวกและสะอาดที่สุดก็คือ กระดาษพิมพ์งานทั่วไป
เพราะเปลี่ยนถ่ายง่าย ไม่ทิ้งคราบ ประหยัด แต่ถ้าใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ควรทิ้งไว้ก่อนไม่ต่ำกว่า
1 สัปดาห์ เพื่อให้เคมีจากหมึกพิมพ์คลายกลิ่นเบาลงก่อน
ที่สำคัญคือต้องมีห้องนอนสำหรับตุ๊กแก คุณรัฐใช้วิธีนำกล่องพลาสติคเจาะรู
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 2 นิ้ว ภายในบรรจุขุยมะพร้าวและฉีดน้ำพอประมาณ
เพื่อรักษาความชื้น กล่องนี้จะเป็นทั้งห้องนอนและที่ซ่อนตัวที่แสนสบายของมัน
ส่วนภาชนะที่เหมาะสมกับการใส่น้ำ อาหาร แคลเซียม และวิตามิน
ควรใช้ถ้วยที่ไม่มีความลึกหรือตื้นเกินไป
ปากถ้วยกว้างเพื่อให้ตุ๊กแกกินอะไรได้ง่าย คุณรัฐให้น้ำดื่มสำหรับคนให้กับตุ๊กแก
เปลี่ยนน้ำทุกวัน ส่วนอาหารก็คือ หนอนนก แต่เขาจะนำหนอนนกมาคลุกผงแคลเซียมด้วย
สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
และจะให้ผงแคลเซียมและวิตามินแยกไว้ต่างหากอีกถ้วยให้ตุ๊กแกมาเลียกินทุกวัน
"ที่ต้องเสริมแคลเซียมเพราะว่าสัตว์พวกนี้ไม่โดดแดด
เราต้องช่วยเรื่องกระดูกของสัตว์ ไม่เช่นนั้นตุ๊กแกอาจจะเป็นโรคกระดูก
ขางอไม่ได้รูปทรง หรือขาบิดอย่างชัดเจน แล้วก็จะพิการไปเลยถึงขั้นตายไปเลยก็มี
จริงอยู่ที่ธรรมชาติไม่ได้สร้างให้พวกมันต้องการแดด เพราะกลางวันมันจะหลบในรู
แต่ในธรรมชาติตุ๊กแกมันกินอาหารอื่นๆ ที่มีคุณค่าได้มากกว่าหนอนนกด้วย
บางทีมันก็กินลูกหนู กับจิ้งหรีด แต่ผมว่ามันอันตราย ทดลองมาแล้ว
เพราะจิ้งหรีดจะชอบอยู่ใกล้หรือกินมูลของตุ๊กแก ซึ่งอาจจะมีโปรโตซัวติดอยู่
แล้วถ้าตุ๊กแกกินจิ้งหรีดเข้าไปก็อาจติดเชื้อโรคจากโปรโตซัวได้เหมือนกัน"
คุณรัฐ เสริม
ส่วนอายุขัยของตุ๊กแก มีรายงานจากต่างประเทศว่า มันอายุยืนถึง 27 ปี
แต่จากประสบการณ์การเลี้ยงในเมืองไทย มีอายุเฉลี่ยราว 3 ปี มีราคาซื้อขายทั่วไป
อยู่ที่ตัวละ 700 บาท จนถึงหลักหมื่น สำหรับผู้สนใจควรจะศึกษาข้อมูลก่อนจะซื้อมาเลี้ยงครับ
ในฉบับนี้ผู้เขียนก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น